แนวคิดเรื่องผู้บริโภคกรีน
(Green consumers)
ผู้บริโภคกรีน หมายถึง
บุคคลที่สนใจและคำนึงถึงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มีการแสดงออกเชิงพฤติกรรมในเรื่องที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงยอมรับและซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Boztepe, 2012; Govender &
Govender, 2016) ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่ง โดยนักการตลาดได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองผู้บริโภคกรีนกลุ่มนี้ มีการแบ่งประเภทขแนวองผู้บริโภคกรีนออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (Schiffman & Wisenblit, 2015: 61)
1.
ประเภทนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้บริโภคนี้มีความสนใจเรื่องกรีนเป็นอย่างมาก มีลักษณะการใช้ชีวิตที่มุ่งเรื่องสุขภาพและความยั่งยืน จะเลือกซื้อและบริโภคอาหารจากแหล่งที่ไม่ใช้สารเคมี หรือ ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก (Organic products) เลือกแหล่งที่มีการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการใช้พลังงาน ลดการใช้น้ำ และมีการบริหารจัดการเรื่องขยะของเสีย
2.
ประเภทบริโภคผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะสนใจการมีสุขภาพที่ดีและยืนยาวของตนเอง แต่จะไม่ได้ให้ความสนใจมากนักในเรื่องความยั่งยืนของโลกและสิ่งแวดล้อม
3.
ประเภทบริโภคเน้นความประหยัด ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อที่จะประหยัดในเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นเกณฑ์
นอกจากนั้น ยังมีการแบ่งประเภทหรือลักษณะของผู้บริโภคกรีนอีกหลายแบบ เช่น (Schiffman & Wisenblit, 2015: 62)
·
ประเภทกรีนแท้จริง (True Greens) คือ ผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องและยอมรับในเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีพฤติกรรมที่โน้มน้าวคนใกล้ชิดให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่จะส่งผลลบต่อสิ่งแวดล้อม มีความต้องการให้ภาครัฐและธุรกิจใส่ใจในเรื่องการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการให้การศึกษากับเยาวชนรุ่นใหม่ให้รักและดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคต
·
ประเภทกรีนลักษณะเป็นผู้ให้ (Donor Greens) คือ ผู้บริโภคที่มีความรู้สึกว่าต้องช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้ในบางครั้งจะพิจารณาซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาจมีการเสียสละหรือบริจาคเงินเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมในบางโอกาส แต่ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอยแบบเดิม
·
ประเภทเรียนรู้เรื่องกรีน (Learning Greens) เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่สนใจเรียนรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อมและปัญหาด้านผลกระทบในเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างๆ อาจสนใจที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในบางโอกาส แต่ยังมีข้อสงสัยในเรื่องผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างว่าช่วยรักษาหรือปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยยังคงปฏิบัติเช่นเดิม
·
ประเภทไม่สนใจกรีน (Non-Greens) เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่สนใจในประเด็นหรือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ไม่มีพฤติกรรมที่แสดงถึงการสนับสนุนความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบในผลกระทบและการดูแลสิ่งแวดล้อม และไม่สนใจที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น