วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2562

งานวิจัยกรีน (๙) สรุปตัวแบบจากงานวิจัยเชิงคุณภาพ


งานวิจัยกรีน (๙) สรุปตัวแบบจากงานวิจัยเชิงคุณภาพ

การเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เพื่องานวิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยครั้งนี้มีผู้ถูกสัมภาษณ์ จำนวน 16 ราย ซึ่งถือเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบการหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆในจังหวัดเพชรบูรณ์ ผลวิจัยแบ่งออกเป็นประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
             ประเด็นด้านผลิตภัณฑ์กรีนและทิศทางของการตลาดกรีน ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กรีนมองว่า ผลิตภัณฑ์กรีนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสะอาด ไม่มีสารพิษเจือปน เนื่องจากมีการตรวจสอบสารพิษตกค้างในผลิตภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการคัดสรรมาอย่างดี นอกจากนั้น ผู้ประกอบการและผู้ผลิตมีมุมมองในอนาคตว่า ตลาดผลิตภัณฑ์กรีนมีความน่าสนใจ สามารถตอบสนองทิศทางใหม่ของผู้บริโภคที่สนใจด้านสุขภาพ และนโยบายทางภาครัฐมีส่วนสำคัญต่อแนวโน้มการบริโภคผลิตภัณฑ์กรีนที่มากขึ้น
             ประเด็นเกี่ยวกับความต้องการและการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคกรีน ผลวิจัยพบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับตัวผลิตภัณฑ์กรีนในการตัดสินใจบริโภค เนื่องจากประสบการณ์ตรงของผู้บริโภคเองที่ได้รับความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์กรีน การให้คำแนะนำและการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์กรีนอย่างถูกต้องกับผู้บริโภค ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์กรีน เนื่องจากเกิดความเข้าใจในผลิตภัณฑ์กรีนอย่างถูกต้องของผู้บริโภค และผลวิจัยยังพบว่า ราคาของผลิตภัณฑ์กรีนที่ไม่สูงเกินไป ผู้บริโภคสามารถซื้อบริโภคได้ มีราคาไม่แพง ก็ส่งผลต่อการบริโภคของผู้บริโภคเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ จะนิยมซื้อผลิตภัณฑ์กรีน มีการซื้อซ้ำหรือการกลับมาซื้อผลิตภัณฑ์กรีนใหม่
             ประเด็นกลยุทธ์การบริหารจัดการองค์การในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กรีน จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กรีน พบว่า เป้าหมายของการดำเนินงานคือ มุ่งสร้างความสำเร็จของการประกอบการ โดยมุ่งเน้นที่ผลิตภัณฑ์กรีนที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย เพื่อทำให้การบริโภคมีความปลอดภัย ผู้บริโภคสุขภาพดี สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การได้รับผลตอบรับจากผู้บริโภคดีมากขึ้น การมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น มีกำไรในการประกอบการ มีการขยายจำนวนร้านมากขึ้น มีสินค้าเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสามารถส่งออกไปต่างประเทศในอนาคต
             ประเด็นการวางแผนทางการตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กรีน ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กรีนมีมุมมองว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์มีความสำคัญมากที่สุด ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องบริหารการตลาดด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ต่อเนื่องและให้มีผลิตภัณฑ์มากขึ้น แต่การตั้งราคาของผลิตภัณฑ์กรีนก็มีความสำคัญในการวางแผนทางการตลาดเช่นกัน รวมถึงการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายแบบใหม่ๆ เช่น การจัดจำหน่ายผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ และการส่งเสริมทางการตลาด เช่น ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการส่งเสริมการตลาดด้านผลิตภัณฑ์กรีน นอกจากนั้น การวางแผนการตลาดที่ดี ควรทำการวางแผนด้านกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคด้วย ซึ่งการทำการตลาดเจาะจงที่ผู้บริโภคเป้าหมายที่ต้องการจะทำให้การทำการตลาดขององค์กรประสบความสำเร็จ  ผลการวิจัยยังพบด้วยว่า ผู้ประกอบการและผู้ผลิตส่วนมากมีมุมมองว่า ปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นตัวแปรสำคัญในการนำมาวางแผนการตลาดของผลิตภัณฑ์กรีน ด้วยเหตุผลที่ว่า หากเศรษฐกิจของประเทศดี ผู้บริโภคจะมีกำลังซื้อสูงขึ้น
             ประเด็นการบริหารส่วนประสมทางการตลาดในผลิตภัณฑ์กรีน ผลการวิจัยในส่วนของส่วนประสมทางการตลาด พบว่า ผู้ประกอบการและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กรีนเห็นด้วยว่า การใช้แนวคิดส่วนประสมทางการตลาดมีความสำคัญในตลาดผลิตภัณฑ์กรีนอย่างมาก ซึ่งผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่เชื่อว่า การดำเนินการตามแนวคิดด้านส่วนประสมทางการตลาดจะส่งผลทำให้ผู้บริโภครับรู้ข้อมูลมากขึ้นและจะสนับสนุนให้ผลประกอบการดีมากขึ้นด้วย ผลการวิจัยยังพบว่า บางรายผู้ประกอบการมีการใช้ทุกส่วนประสมทางการตลาดในการบริหารงานขององค์กร และบางรายมองว่า การวางแผนด้านผลิตภัณฑ์มีความสำคัญมากในการบริหารผลิตภัณฑ์กรีน และมีหลายรายผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตที่มีมุมมองว่า ส่วนประสมทางการตลาดอีก 3 ด้าน ได้แก่ ราคา ช่องทางการจัดจำหน่าย และการส่งเสริมทางการตลาด มีส่วนอย่างมากต่อความสำเร็จของการประกอบการขององค์กร
             ประเด็นความร่วมมือของเครือข่ายในการบริหารผลิตภัณฑ์กรีน ผู้ประกอบการและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กรีนมีข้อเสนอแนะเรื่องการพัฒนากลุ่มหรือเครือข่ายในอนาคตว่า ควรมีการจัดตั้งกลุ่มให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ขยายกลุ่มให้ใหญ่ขึ้นเพื่อสามารถสร้างผลมีกำไรมากขึ้น ควรมีการฝึกอบรมในสมาชิกของกลุ่มหรือเครือข่าย ซึ่งบางรายเสนอว่า ควรมีการขยายกลุ่มให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจนเกิดเป็นรูปแบบโรงงานการผลิต นอกจากนั้น หลายรายเสนอแนะการสร้างความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งในและนอกกลุ่ม ควรมีการสนับสนุนมากขึ้น (เช่น การสนับสนุนจากภาครัฐ) และควรมีการสร้างกลุ่มการเรียนรู้ร่วมด้วย



รูปที่ 1 ตัวแบบการบริหารองค์กรของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์กรีน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

งานวิจัยกรีน (๙) สรุปตัวแบบจากงานวิจัยเชิงคุณภาพ

งานวิจัยกรีน (๙) สรุปตัวแบบจากงานวิจัยเชิงคุณภาพ การเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เพื่องานวิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยครั้งนี้มีผู้ถูกสัมภาษณ์ จ...