วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2562

งานวิจัยกรีน (๖) ผลการวิจัยเชิงคุณภาพ ประเด็น 3 และ 4


งานวิจัยกรีน (๖) ผลการวิจัยเชิงคุณภาพ ประเด็น 3 และ 4

การเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เพื่องานวิจัยเชิงคุณภาพ
งานวิจัยครั้งนี้มีผู้ถูกสัมภาษณ์ จำนวน 16 ราย ซึ่งถือเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบการหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆในจังหวัดเพชรบูรณ์

ผลวิจัยพบว่า
การเก็บข้อมูลของงานวิจัยคุณภาพครั้งนี้ ประกอบไปด้วยประเด็นที่สำคัญที่ผู้วิจัยใช้เป็นแนวทางในการสัมภาษณ์ จำนวน 6 ประเด็นหลัก ดังนี้

ประเด็นที่ 3 กลยุทธ์การบริหารจัดการองค์การในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กรีน
                         ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กรีนให้ข้อมูลว่า ทางผู้ประกอบการมุ่งสร้างความสำเร็จของการประกอบการ โดยมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์กรีนที่ดี มีความปลอดภัย ผลิตภัณฑ์ทำให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัย สุขภาพดี บางรายระบุว่า ใช้กลยุทธ์การตลาดในการดำเนินงาน บางรายระบุถึงการดำเนินงานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง บางรายมุ่งเน้นการทำศูนย์การเรียนรู้ หลายรายกล่าวว่า กลยุทธ์จะมุ่งการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย และมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ บางรายระบุว่า กลยุทธ์ที่ใช้จะเน้นด้านความซื่อสัตย์ ส่วนบางรายกล่าวว่า กลยุทธ์มุ่งเน้นการส่งเสริมทางการตลาดเป็นหลักในการดำเนินงาน
                         เป้าหมายของผู้ประกอบการ คือ ได้รับผลตอบรับจากผู้บริโภคดีมากขึ้น การมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น มีกำไรในการประกอบการ มีการขยายจำนวนร้านมากขึ้น มีสินค้าเพิ่มมากขึ้น บางรายตั้งเป้าหมายเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ นอกจากนั้น ผลการสัมภาษณ์ พบว่า กลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการเลือกใช้ในปัจจุบันได้ผลสำเร็จดี หรือบางแห่งระบุว่า เป้าหมายส่วนมากประสบความสำเร็จดี บางรายระบุว่า มีความสำเร็จในการวางแผนการตลาด   

ประเด็นที่ 4 การวางแผนทางการตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กรีน
                         ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กรีนหลายคนมีมุมมองว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์มีความสำคัญมากที่สุด ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องบริหารการตลาดด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ต่อเนื่องและให้มีผลิตภัณฑ์มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคเช่นกัน ผู้ให้ข้อมูลบางคนระบุว่า การวางแผนด้านช่องทางการจัดจำหน่ายมีความสำคัญ ซึ่งหลายแห่งมีการวางแผนด้านสถานที่จัดจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เช่น การจัดจำหน่ายที่ตลาดกรีนมาร์เก็ตหรือตลาดตำบล เป็นต้น รวมถึงบางแห่งได้สนใจในการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายแบบใหม่ๆ เช่น การจัดจำหน่ายผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ ในแง่ของการส่งเสริมทางการตลาด ผู้ให้ข้อมูลบางส่วนกล่าวว่า ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการส่งเสริมการตลาดด้านผลิตภัณฑ์กรีน เช่น การเข้าร่วมกันภาครัฐเพื่อส่งเสริมในด้านผลิตภัณฑ์กรีนในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีการออกบูธตามสถานที่ต่างๆเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางด้านผลิตภัณฑ์กรีน บางรายได้มองว่า การตั้งราคาของผลิตภัณฑ์กรีนก็มีความสำคัญในการวางแผนทางการตลาดเช่นกัน โดยมีลักษณะของการตั้งราคาหลายแบบ เช่น บางรายทำการตั้งราคาผลิตภัณฑ์กรีนตามท้องตลาด บางรายทำการตั้งราคาผลิตภัณฑ์กรีนตามความยากง่ายในการผลิต เป็นต้น ผู้ให้ข้อมูลบางคนระบุว่า การวางแผนการตลาดที่ดี ควรทำการวางแผนด้านกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคด้วย ซึ่งการทำการตลาดเจาะจงที่ผู้บริโภคเป้าหมายที่ต้องการจะทำให้การทำการตลาดขององค์กรประสบความสำเร็จ  นอกจากนั้น บางรายได้ให้ข้อมูลว่า ได้มีการพัฒนาผู้ผลิตให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อมีสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจจำนวนมากพอในการผลิตผลิตภัณฑ์กรีนที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
                                ด้านปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตใช้ในการวางแผนทางการตลาดนั้น ผลการวิจัยพบว่า ผู้ประกอบการและผู้ผลิตส่วนมากมีมุมมองในปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นตัวแปรสำคัญในการนำมาวางแผนการตลาดของผลิตภัณฑ์กรีน เนื่องจากเหตุผลที่ว่า หากเศรษฐกิจของประเทศดี ผู้บริโภคจะมีกำลังซื้อสูงขึ้น ดังนั้น จำนวนผู้ซื้อหรือผู้บริโภคผลิตภัณฑ์กรีนก็จะมีเพิ่มมากขึ้นไปด้วย รองลงมา คือ ปัจจัยส่วนบุคคลของผู้บริโภค โดยเฉพาะปัจจัยผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับความต้องการมีสุขภาพที่ดี จะเป็นปัจจัยสำคัญในการวางแผนการตลาดของผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กรีน นอกจากนั้น ผู้ให้ข้อมูลยังระบุถึงปัจจัยด้านราคาของผลิตภัณฑ์ซึ่งจะมีผลต่อความพึงพอใจของผู้บริโภค รวมถึงปัจจัยด้านตัวผลิตภัณฑ์เอง เช่น ด้านรสชาติ ด้านคุณภาพสินค้า เป็นต้น ล้วนมีความสำคัญต่อการวางแผนทางการตลาดของผู้ประกอบการและผู้ผลิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

งานวิจัยกรีน (๙) สรุปตัวแบบจากงานวิจัยเชิงคุณภาพ

งานวิจัยกรีน (๙) สรุปตัวแบบจากงานวิจัยเชิงคุณภาพ การเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เพื่องานวิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยครั้งนี้มีผู้ถูกสัมภาษณ์ จ...